Ep.2 ตาลปัตร-พัดรอง พุทธศิลป์สู่พุทธนิกาย จีน-ญวน
หลาย ๆ ท่านอาจจะมีความสงสัยถึงชื่อที่มาของบทความ "ตาลปัตร-พัดรอง พุทธศิลป์สู่พุทธนิกาย จีน-ญวน" นะครับว่าบทความนี้ ทางกระผมกำลังจะเสนอบทความในเรื่องอะไร...? ต้องบอกกับทางท่านผู้อ่านก่อนว่า ทางร้าน C.C.Create นอกจากจะพยายามสืบสานรูปแบบผลงานการทำงานไม้แกะสลักในรูปแบบงาน อนุรักษณ์ด้านวัฒนธรรมไทย-จีน แล้วทางผมเองอยากจะสืบสานวัฒนธรรมแนวความรู้ต่าง ๆ ที่ได้ศึกษาและทำการค้นคว้าศึกษาด้วยตนเอง ศึกษาจากผู้ที่มีความรู้จากผู้อาวุโส หรือกลุ่มเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่มีความรู้ในด้านวัฒนธรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร๋ ความรู้ และศิลปะวัฒนธรรมจีน ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุย สนทนา วิเคราะห์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางหรือแนวความคิด กระผมจึงอยากจะรวบรวมความรู้เกล็ด เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นเรื่องราวแนวความคิด หรือสิ่งที่พบเห็น หรือเรื่องราวที่เป็นข้อสงสัย ทั้งเรื่องราว ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ค่อยมีผู้ใดพูดถึงหรือนำมาเขียนเป็นข้อมูลหรือแนวทาง ดังนั้นกระผมเองจึงเกิดแนวคิดว่าอยากจะให้เว็บแห่งนี้ เป็นที่รวบรวมผลงานไม้แกะสลักด้านวัฒนธรรมแล้ว จึงอยากจะให้เป็นแหล่งที่เก็บบทความความรู้ต่าง ๆ ด้านศิลปะวัฒนธรรมไทยจีนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และได้โชว์ผลงานต่าง ๆ ที่ทางร้าน C.C.Create ได้สร้างสรรค์ขึ้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งที่มอบความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับผู้ที่สนใจเรื่องวัฒนธรรมศิลปะความรู้ ไทย-จีน
ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวถึงรูปแบบของรูปทรงของตาลปัตร-พัดรอง ในแบบอนัมนิกายแห่งประเทศไทย (ญวนนิกาย) และแบบสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ว่ามีรูปแบบ รูปทรง และความงดงามอย่างไรกระผมจึงไคร่ขออธิบายถึงความหมายและความเป็นมาถึงศาสนาพุทธในแบบมหาญาณ ซึ่งคณะสงฆ์อนัมนิกาย และคณะสงฆ์จีนนิกาย ทั้งสองนิกายนี้เป็นศาสนาพุทธในแบบมหาญาณในแบบย่อ ๆ เพื่อเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
พระราชวรมุนี ( ประยุทธ์ ปยุตโต ). ( 2525 : 525 ). ให้ความหมายคำว่า มหายาน มาจากคำว่า มหา รวมกับคำว่า ยาน ซึ่งแปลว่า พาหนะอันยิ่งใหญ่ หมายถึง
ทางแห่งการปฏิบัติที่จะนำเอาสัตว์โลกให้ข้าม พ้นจากสงสารวัฏได้มากและบางทีเรียกว่าโพธิสัตว์ยาน หมายเรียกหลักปฏิบัติของพระโพธิสัตว์คือ ผู้มีจิตใจประกอบด้วยความกรุณาในสรรพสัตว์ มหายานจึงเน้นด้านกรุณา ต้องการช่วยผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ก่อนแล้วจึงช่วยตัวเอง
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ให้ความหมายคำว่า มหายาน จึงเป็นการเปรียบเทียบหมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าสาวกยาน ในคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ คุรุนาคารชุนะปราชญ์ฝ่ายมหายาน ได้อธิบายความหมายของมหายานไว้ว่า “พระพุทธธรรมมีเอกรสเดียว คือ รสแห่งวิมุตติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเพื่อตัวเอง และชนิดที่สองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย” อันหมายความว่า ฝ่ายสาวกยานมุ่งเพียงความหลุดพ้นเป็นอรหันต์สิ้นกิเลสเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นด้วย แต่ฝ่ายมหายานย่อมมีอุคมคติตรงกันข้าม กล่าวคือย่อมมุ่งพุทธภูมิมีปณิธานจะตรัสรู้เป็นพระพุทธะเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จนหมดสิ้น อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานโดยทั่วไปมุ่งแต่สาวกภูมิเป็นสำคัญ ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยาน ส่วนพุทธศาสนิกชน
ฝ่ายมหายานย่อมมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงมีอีกชื่อว่า โพธิสัตวยาน หรือ พุทธยาน
ในสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ได้อธิบายความหมายของมหายานว่า “ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจากพระผู้มีพระภาค แล้วบังเกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใสได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสัพพัญญุตญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต กำลังความกล้าหาญ มีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์นั่นชื่อว่า มหายาน”
สำหรับข้อมูลที่กล่าวมาหลาย ๆ ท่านคงจะพอมองเห็นภาพของคำว่าพุทธศาสนาในแบบมหายาน ว่ามีความแตกต่างจากพุทธศาสนาในประเทศไทยที่เป็นแบบนิกายเถรวาท (ซึ่งฝ่ายมหายานเรียกนิกายเถรวาท ว่า นิกายหีนยาน) พระสงฆ์อนัมนิกาย (ญวนนิกาย) ในประเทศไทยนั้นมีการได้เข้ามาพร้อมกับชุมชนชาวญวณในสมัยอดีตโดยทำการอพยบและเข้ามายังประเทศไทยหลายระรอกด้วยกัน โดยเข้ามาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปตีเมืองญวน และได้มีการต้อนผู้คนหรือชาวญวนเข้ามา ผมคงจะไม่กล่าวข้อมูลเหล่านี้มากมายนะครับ เพราะจำทำให้ยืดยาว สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนชาวญวนว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร และก่อให้เกิดพุทธศาสนาในแบบอนัมนิกาย (ญวนนิกาย) ขึ้นในประเทศไทยสามารถืบค้นข้อมูลที่ www.anamnikayathai.com ซึ่งเป็นเว็บไซนด์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลความเป็นมาได้อย่างละเอียด
สำหรับพระสงฆ์จีนนิกาย นั้นเป็นคณะสงฆ์นิกายมหายานของชาวไทยเชื้อสายจีน ถือกำเนิดมาจากชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนผืนแผ่นดินไทยที่ได้อพยบเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นโดยรูปการอบพยบเข้ามายังประเทศไทยมีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่นทำการค้าขาย หนีภัยสงคราม หนีภัยธรรมชาติ โดยรูปแบบการ อพยบเข้ามาในสมัยอดีตนั้น เข้ามาด้วยกันหลายระรอก หลายครั้งด้วยกัน เนื่องจากประเทศไทย หรือ สยามประเทศนั้นเป็นพื้นที่หรือดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ให้ความสำคัญเรื่องการค้า การต้องการแรงงาน จึงทำให้ชาวจีนในสมัยอดีตนั้นได้ทำการย้ายถิ่นฐานเข้ามายังเป็นเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยชาวจีนได้นำเอาวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อดั้งเดิมของตนเข้ามาประพฤติปฏิบัติ แรกเริ่มในสมัยอดีตนั้นยังไม่มีพระภิกษุจีนเข้ามาอาศัยยังประเทศไทยนั้น ชาวจีนมักจะทำการสร้างศาลเจ้าจีนขึ้นก่อนเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระภิกษุจีนแถบมณฑลกวางตุ้งจาริกเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจมากขึ้น จึงนำไปสู่การจัดระเบียบการบริหารการปกครอง คณะสงฆ์จีนได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินไทยและมีความเจริญสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน จึงนังได้ว่าแต่เดิมนั้นตั้งแต่สมัยอยุธยาประเทศไทยเรายังไม่มีพระสงฆ์จีนเข้ามาพำนักยังประเทศไทย และเริ่มมีพระสงฆ์อย่างจีนนั้นในช่่วงสมัยรัชกาลที่ 5
จากที่กล่าวมาเราคงจะมาพูดถึงเรื่องรูปแบบของตาลปัตร-พัดรอง ในรูปแบบของพระสงฆ์แบบญวน และพระสงฆ์แบบจีนนิกายว่ามีรูปแบบ หรือรูปทรงอย่างไรและมีรูปแบบ รูปทรงและที่มาอย่างไรเนื่องจากเท่าที่ผมได้สิบค้น และหาข้อมูลต่าง ๆ จึงพอที่จะสรุปรูปแบบและลักษณ์ของพัดรอง-ตาลปัตร ของญวนนิกาย ละจีนนิกายว่ามีรูปแบบเช่นไร เพื่อเป็นรูปแบบความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้น
ดวงจิตร จิตรพงศ์. (2502 : 30-32 ). ได้กล่าวถึงตาลปัตรในนิกายของมหายานว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดฯให้ มีสนณศักดิ์สําหรับพระจีนด้วยในคราวเดียวกันและทรงเลือกสรรพระญวนที่เป็นคณาจารย์ตั้งเป็น ตําแหน่งพระครู พระปลัด รองปลัด ผู้ช่วย ส่วนพระจีนนั้นหัวหน้าเป็นตำแหน่งพระอาจารย์ และมีฐานานุกรมเป็นปลัดและรองปลัด เช่นเดียวกันกับพระญวน พระราชทานสัญญาบัตร มีราชทินนามกับพัด ยศ ซึ่งจำลองแบบพัดพระไทย แต่ทําให้เป็นขนาดย่อมลง
สำหรับรูปแบบของทรงตาลปัตร ที่บ่งบอกชั้นยศพัดประจำตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย (เทียบพระราชาคณะชั้นธรรม พิเศษ) พัดยศรองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย (เทียบพระราชาคณะชั้นเทพ) ในส่วนนี้ผมคงจะไม่กล่าวถึง แต่สิ่งที่อยากจะกล่าวถึงก็คือรูปแบบ หรือรูปทรงของพัดรอง หรือ ตาลปัตร ที่ใช้กันทั่วไปในงานต่าง ๆ หรือพัดรองที่ระลึก เนื่องจากรูปแบบของตาลปัตรพัดรอง อย่างแบบจีน และแบบญวนนั้น จะมีรูปแบบหรือรูปทรงที่น่าสนใจและจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปอย่างตาลปัตรพัดรองของไทยที่มักจะนิยมทำกันเป็นทรงหน้านาง เนื่องจากเป็นรูปทรงที่นิยมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน สำหรับรูปแบบพัดรองอย่างจีนหรืออย่างญวนนั้นจากการที่ผมค้นหาข้อมูลมานั้น พัดรองที่นิยมใช้กันในกลุ่มของสงฆ์จีน และสงฆ์ญวนนั้นจะมีด้วยกัน 4 รูปแบบคือ แบบทรงหน้านาง แบบวงกลม แบบสีเหลี่ยมมุมมล (ทรงใบกล้วย) และทรงหมวกผีหลูเม่า จากรูปแบบของพัดรองอย่างพระจีน-ญวนนั้น ทั้ง 4 รูปแบบนั้นจะมีรูปแบบที่น่าสนใจหลัก ๆ อยู่ 2 รูปแบบคือแบบที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมมล (ทรงใบกล้วย) และทรงหมวกผีหลูเม่า ผมจะทำการขยายความของรูปแบบพัดรองทั้ง 2 ทรงนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อแบ่งปันความรู้กันครับ
ภาพตาลปัตรพัดยสของคณะสงฆ์อนัมนิกาย (ญวนนิกาย) จะเห็นว่าหมายเลข 1-3 จะเป็นตาลปัตรสี่เหลี่ยมมุมมล
หมายเลข 4-5 เป็นตาลปัตรทรงวงกลม
ขอบพระคุณภาพจาก : เพจพัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย
ตาลปัตร-พัดรองทรงสี่เหลี่ยมมุมมล (ทรงใบกล้วย) สำหรับพัดรองในรูปทรงนี้นั้นจากการสืบค้นสันนิฐาน โดยมีความเข้าใจว่าน่าจะนำรูปแบบมาจากพัดทรงใบกล้วยที่เรียกว่า ปาเจียวซ่านจี (芭蕉扇子) แปลว่าพัดใบตอง หรือพัดใบกล้วย เฮียหมีประธานสมาคมผู้รักชาและวัฒนธรรมจีน. ได้อธิบายขยายความว่า ปาเจียวซ่านจีไว้ว่า "ปาเจียวคือกล้วยหอมชนิดหนึ่ง โดยลักษณะของใบกล้วยหอมชนิดนี้มีความหนา และใหญ่ คนจีนจึงนิยมนำมาทำเป็นพัด มีสัญญะแปลว่าใหญ่หรือ "ต้าเย่ 大叶" ใบกล้วยขนาดใหญ่มีความหมายถึงความรุ่งเรือง กิจการใหญ่โต" หากเราทำการสืบค้นข้อมูลต่อไปอีกว่า พัดใบกล้วยหรือ ปาเจียวซ่านจีนี้ ยังปรากฏในรูปแบบของอาวุธสำคัญของเทพเซียนของจีนเช่น ไท่ซ่างเหล่าจิน (太上老君)ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าสูงสุดแห่งลัทธิเต๋าดังเราจะเห็นภาพเขียน หรือองค์สักการะของท่านในมือจะถือพัดทรงใบกล้วย อีกหนึ่งองค์คือ ฮั่นจงหลี่-หั่งเจ็งหลี (汉钟离) เป็นเทพหนึ่งในบรรดาเทพแปดเซียนอาวุธที่ท่านถือก็เป็นพัดใบกล้วย ซึ่งพัดอันนี้มีความวิเศษที่ว่าสามารถโบกพัดคนตายให้กลับฟื้นคืนชีพได้ จึงเรียกพัดชนิดนี้ว่า “พัดฟื้นคืนวิญญาณ” หรือ “พัดหวนคืนชีพ” (还魂扇) จากการสันนิฐานในเบื้องต้นจึงเชื่อได้ว่ารูปแบบของพัดรองทรงสี่เหลี่ยมมุมมลนี้ คงจะนำรูปทรงมาจากพัดใบกล้วย หรือ ปาเจียวซ่านจี (芭蕉扇子) ซึ่งในสมัยอดีตชาวจีนก็มักจะนิยมทำพัดในทรงนี้เพื่อใช้ในกิจวัติต่าง ๆ ช่างผู้ทำตาลปัตร-พัดรองในสมัยอดีตจึงเล็งเห็นว่าทรงพัดใบกล้วยนี้นั้นเป็นสัญลักษณ์สิ่งของมงคลของจีน และมีความหมายที่ดี จึงได้ล้อรูปแบบรูปทรงพัดใบกล้วยหรือปาเจียวซ่านจี (芭蕉扇子) มาเป็นรูปแบบของตาลปัตร-พัดรอง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้กับพระภิกษุสงฆ์จีน และพระภิกษุสงฆ์ญวน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทางด้านวัฒนธรรมจีนโดยตรง
ภาพไท่ซ่างเหล่าจิน (太上老君) สังเกตุจากภาพในมือจะถือพัดทรงใบกล้วย
ขอบพระคุณภาพจาก : https://www.cn.godofwealthtemple.com.au
ภาพฮั่นจงหลี่-หั่งเจ็งหลี (汉钟离) ในมือจะถือพัดทรงใบกล้วย
ขอบพระคุณภาพจาก : https://www.qulishi.com/lishi/v442561.html
ตาลปัตร-พัดรองทรงหมวกผีหลูเม่า (หมวกพระสงฆ์จีนและญวนใส่ในการประกอบพิธีกรรม) สำหรับการเรียก ตาลปัตร-พัดรองในรูปทรงนี้นั้นด้วยเหตุว่าทำไมจึงเรียกว่า ทรงหมวกผีหลูเม่านั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่าเรามักจะเห็นพัดรองที่ละลึกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ใช้ถวายพระสงฆ์จีน และพระสงฆ์ญวนนั้น จะมีพัดรองที่ละลึกมีรูปทรงที่แปลกตาสวยงาม เป็นลักษณะรูปทรงอย่างลวดลายจีนที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม ทรงกว้างบ้าง ผอมบ้าง ขึ้นอยู่กับผู้ทำและออกแบบในการผลิต แต่เราไม่เคยสืบทราบหรือค้นหาได้เลยว่ารูปทรงที่นำมาทำทรงพัดรองในแบบนี้นั้น ได้รูปทรงหรือรูปแบบมากจากที่ใด และได้แนวทางมาจากอะไร จนผมได้ทำการสืบค้นและหาข้อมูลและวิเคราะห์จากภาพพระราชพิธีในอดีต ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาล ที่ 5 พบว่าเป็นยุคที่มีการสร้างตาลปัตรพัดรองที่ละลึกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ มากมายจนรวมถึง พระราชพิธีกงเต็กซึ่งประกอบพิธีโดยพระสงฆ์อนัมนิกาย เราจะพบเห็นในภาพสมัยเก่า ๆ พบว่า เมื่อพระสงฆ์ญวนได้ทำการประกอบพระราชพิธีกงเต็กหลวงจะใส่ชุดประกอบพิธีในแบบอย่างพระสงฆ์ยังประเทศจีน โดยการมีผ้าจีวรแบบคลุมสีแดงลายตาราง และสวมหมวกรูปทรงแปลกตา ประกอบการร่ายรำมือ หรือการแสดงท่ามุทรา ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมโดยใช้มือและนิ้วมือเป็นการสแสดงสัญลักษณ์ความหมายต่าง ๆ สำหรับใจความสำคัญที่ค้นพบข้อมูลคือรูปแบบของหมวกที่พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีสวมใส่อยู่เรากับพบแนวทางที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นหวมกที่รูปทรงอย่างจีนมีการปักลวดลายสวยงาม เช่นลายสัตว์มงคล ลายดอกไม้มงคล หรือสัญลักษณ์มงคลในแบบจีน มีสีแดงบ้าง สีเหลืองบ้าง ซึ่งแล้วแต่พระภิกษุสงฆ์จะเลือกสวมใส่ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุสำคัญของหมวกที่พระสวมใส่อยู่นั้น เมื่อทำการพิจรณาอย่างถี่ถ้วนเรากับพบว่าทรงหมวกที่บริเวณด้านหน้า-หลังของหมวก ที่พระสงฆ์ญวน และพระสงฆ์จีนใส่ในการประกอบพิธีสวดมนต์อยู่นั้น ที่บริเวณหมวกทางด้านหน้า-หลัง มีรูปร่างคล้ายคลึงกับทรงของพัดรองที่นิยมทำถวายพระสงฆ์ญวน-จีน ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ที่ทางพระราชวังจัดทำถวายเพื่อใช้เป็นของที่ละลึกถวายให้พระสงฆ์ในพระราชพิธีต่าง ๆ สำหรับพัดรองในรูปทรงนี้กลับไม่ปรากฏชื่อเรียกของรูปทรงแต่อย่างใด คงเรียกพัดรองทรงนี้แค่เพียงว่าพัดรองสำหรับพระสงฆ์จีน-ญวนนิกาย จากแนวทางในเบื้องต้นเราพอที่จะได้ข้อมูลสรุปได้ว่ารูปแบบพัดรองทรงอย่างจีนนี้ ได้แนวคิดหรือรูปแบบทรงหมวกของพระสงฆ์จีน-ญวนเพื่อใส่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งใช้ใส่ในการประกอบพิธีตามโอกาศต่าง ๆ เช่น พิธีกงเต็กหลวง พิธีโยคะตันตระ (ภาษาสันสกฤตเรียกว่าอุลลัมพิธี "ซิโก") เป็นต้น ซึ่งพระสงฆ์ญวน-จีน เมื่อจะขึ้นประกอบพิธีกรรมจะสวมหมวกแบบนี้เสมอ ซึ่งหมวกขนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "ผีหลูเม่า" หรือ "ผีหลูฝ่อ" (毗卢帽) นั่นเอง
รูปแบบพัดรองทรง "หมวกผีหลูเม่า (หมวกพระสงฆ์จีนและญวนใส่ในการประกอบพิธีกรรม)"
ภาพพระสงฆ์จีนสวมหมวก "ผีหลูเม่า" หรือ "ผีหลูฝ่อ" (毗卢帽) ทำการร่ายรำมือ หรือการแสดงท่ามุทรา
ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมโดยใช้มือและนิ้วมือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ความหมายต่าง ๆ
ขอบพระคุณภาพ : ซือเฮียณัฐพล ศุทธภาพิสุทธิคุณ
การเปรียบเทียบรูปแบบของหมวกผีหลูเม่า" หรือ "ผีหลูฝ่อ" (毗卢帽) กับ รูปแบบพัดรอง
ขอบพระคุณภาพ : ซือเฮียณัฐพล ศุทธภาพิสุทธิคุณ
ภาพตาลปัตร-พัดรอง สำหรับถวายบรรพชิตญวนนิกาย-จีนนิกาย
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา
ขอบพระคุณภาพจาก : สำนักข่าวพระพุทธศาสนาและสังคม และเพจคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย
ภาพตาลปัตร-พัดรองทรงหมวก"ผีหลูเม่า" หรือ "ผีหลูฝ่อ" (毗卢帽)
งานพระราชทานดินบรรจุศพพระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (เจริญ กิ๊นเจี๊ยวมหาเถร) อดีตเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย
สังเกตุจากภาพตัวพัดรองจะมีรูปทรงขนาดใหญ่ กว้างออกทางด้านข้าง
ขอบพระคุณภาพจาก : เพจประชาสัมพันธ์คณะสงฆ์อนัมนิกาย
จากการหาข้อมูลในเบื้องต้นเราคงพอที่จะสรุปได้ว่า พัดทรงสี่เหลี่ยมอย่างมล หรือทรงพัดใบกล้วยได้นำรูปแบบมาจากสิ่งของมงคลอย่างจีน และพัดรองทรงอย่างจีน-ญวน ก็ได้รูปแบบมาจากรูปทรงด้านหน้า-หลังของหมวกผีหลูเม่า หรือ ผีหลูฝ่อ เป็นหมวกที่ใช้ในการแต่งกายของพระสงฆ์จีน-ญวนเพื่อใส่ในการประกอบพิธีกรรม จากการที่รวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น จึงพอสรุปเป็นแนวทางได้ว่าในสมัยอดีตการจัดสร้างตาลปัตร-พัดรอง เพื่อใช้ถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์จีน-ญวน ได้มีการจำแนกรูปแบบหรือรูปทรงออกจากรูปแบบพัดรองอย่างทรงหน้านางซึ่งนิยมใช้ถวายให้กับสงฆ์ในประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างรูปแบบความงามของพุทธศิลป์โดยการทำรูปแบบให้เกี่ยวข้องกับกลุ่มพระสงฆ์จีน-ญวน เพื่อให้รูปแบบของพัดรองนั้น เกี่ยวข้องกับรูปแบบความงามของศาสนาจากแหล่งที่มาคือจากประเทศจีนจึงได้ทำการสร้างสรรค์ความงามของพัดรองให้มีความปราณีตสวยงามและเกี่ยวข้องกับสถานที่มาเพื่อให้สอดคล้องกลมกลืน ซึ่งรูปแบบของพัดรองทรงหน้านางที่ใช้ถวายพระภิกษุสงฆ์ไทยนั้น ก็มิได้มีข้อบังคับหรือกฏเกณฑ์ว่าพระภิษุสงฆ์ญวน-จีน ห้ามใช้รูปทรงพัดรองทรงหน้านางแต่อย่างใด ซึ่งคณะสงฆ์ทั้ง ไทย-จีน-ญวน ก็สามารถใช้พัดรองรูปทรงที่มีอยู่ได้อย่างอิสระมิได้ตั้งเป็นกฏข้อบังคับแต่อย่างใด ดั่งจะเห็นว่าพัดชั้นยศของคณะสงฆ์ญวนก็ดี คณะสงฆ์จีนก็ดี รูปแบบตาลปัตรชั้นยศนั้นก็ใช้รูปทรงแบบเดี่ยวกับชั้นยศของพระภิกษุสงฆ์ไทย แต่อยากให้มองถึงความงามและรูปแบบพุทธศิลป์ หรือศิลปะอันงดงามซึ่งช่างและผู้ออกแบบได้ใส่แนวทาง ความคิด ความตั้งใจ ออกมาเป็นผลงานทางด้านพุทธศิลป์เพื่อสืบต่อดำรงค์พระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป
จากภาพจะเห็นได้ว่ารูปทรงพัดยศอย่างพระสงฆ์จีนนิกายก็มีพัดยศรูปทรงหน้านางเช่นกัน
ขอบพระคุณภาพจาก : เพจพัดยศสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย
สนใจผลงานตาลปัตร-พัดรอง ไม้สักทอง ทรงหน้านาง ทรงผีหลูเม่า" หรือ "ผีหลูฝ่อ ทรงพัดใบกล้วย "ปาเจียวซ่านจี"
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments